หุ้นกู้ คือ อะไร น่าสนใจอย่างไร มีเงินน้อยลงทุนได้ไหม



     ก่อนที่เราจะลงทุนอะไร เราคงมีคำถามมากมายที่อยากรู้ เช่น การลงทุนแบบนี้ คือ อะไร ให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ ใช้เวลาลงทุนนานไหม คุ้มค่าไหม เงินต้นที่ลงทุนไปจะหายไหม การลงทุนนี้เหมาะกับเราจริงๆหรือเปล่า เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ เราจึงควรศึกษาก่อนลงทุนจริง ช่วยลดความเสี่ยงขาดทุนจากการลงทุนนั้น

หุ้นกู้ คือ อะไร
     หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยบริษัทเอกชน ซึ่งถ้าออกโดยภาครัฐเราจะเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล หรือตั๋วเงินคลัง เราขอขยายความคำว่า “ตราสารหนี้” คือ อะไรกันก่อน

ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือหรือนักลงทุนมีสถานะเป็น เจ้าหนี้ และผู้ออกหุ้นกู้มีสถานะเป็น ลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ หรือถ้าพูดง่ายๆ ตราสารหนี้ คือ สัญญาเงินกู้ รูปแบบหนึ่ง โดยในสัญญาจะระบุ จำนวนเงินลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ ความถี่ในการจ่ายดอกเบี้ยกี่ครั้งต่อปี และระยะเวลาลงทุน

ทำไม ถึงมีการ ขาย หุ้นกู้ ให้กับนักลงทุน
     บริษัทเอกชนต้องการระดมเงินหรือยืมเงินเอาไปใช้ในกิจการ และระหว่างที่ยืมเงิน บริษัทก็จะจ่าย “ดอกเบี้ย” ให้กับเจ้าหนี้หรือนักลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือชี้ชวน การจำหน่ายหุ้นกู้ของบริษัทจะจำหน่ายให้ทั้งนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนสถาบัน โดยหุ้นกู้สำหรับรายย่อยส่วนใหญ่ที่เห็นในประเทศไทยจะเริ่มต้นจำหน่ายในวงเงินขั้นต่ำ คือ 100,000 บาท แต่มีหุ้นกู้บางรายเริ่มให้ลงทุนเพียง 10,000 บาท เช่น หุ้นกู้ i-EASY จากแสนสิริ เป็นต้น เราสามารถดูผลตอบแทนของหุ้นกู้ได้จากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่ออกหุ้นกู้หรือตามหน้าเว็บไซต์ของธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายหุ้นกู้

หุ้นกู้ เหมาะกับ ใคร ดีอย่างไร
     หุ้นกู้ เหมาะกับ คนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย และอยากได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยผลตอบแทนของหุ้นกู้สูงกว่าเงินฝาก ซึ่งหุ้นกู้อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้กับนักลงทุนได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วราคาและผลตอบแทนของหุ้นกู้จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับหุ้น และเราสามารถขายหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดได้ โดยสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นกู้อาจแตกต่างกันไปตามปริมาณหุ้นกู้นั้นๆ

ลงทุนหุ้นกู้ ได้เงิน อย่างไร

โดยผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากการถือหุ้นกู้ มี 2 รูปแบบ

1. “ดอกเบี้ย” ผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยระหว่างทางในการถือหุ้นกู้ จำนวนงวดที่ได้เราจะรับดอกเบี้ยหรือจำนวนครั้งที่บริษัทจะจ่ายดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหุ้นกู้แต่ละรุ่น การจ่ายดอกเบี้ยบริษัทส่วนใหญ่จะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน สำหรับหุ้นกู้บางรุ่นจ่ายดอกเบี้ยปีละ 4 ครั้ง หรือทุกๆ 3 เดือน  โดยดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ 15% เช่นเดียวกับรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ

2. “ส่วนลด” หรือ Zero Coupon Bond คือหุ้นกู้ที่จะกำหนดราคาขายไว้ต่ำกว่าราคาปกติ โดยวันที่เราซื้อหุ้นกู้ เราจะชำระเงินที่ราคาส่วนลด แต่เมื่อเราถือหุ้นกู้จนครบกำหนด ผู้ออกหุ้นกู้จะคืนเงินให้เราเต็มจำนวนตามมูลค่าที่กำหนดไว้ เช่น หุ้นกู้มีมูลค่า 100,000 บาท อายุ 1 ปี เป็นหุ้นกู้ที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย แต่มีส่วนลดให้ผู้ซื้อ 2% ดังนั้น วันแรกที่เราลงทุนซื้อหุ้นกู้ เราชำระเงิน 98,000 บาท และในอีก 1 ปีข้างหน้าเมื่อครบกำหนดอายุหุ้นกู้ เราจะได้เงินคืน 100,000 บาท

โดยหุ้นกู้ทั้งสองแบบ เราจะได้เงินต้นคืนเมื่อเราถือหุ้นกู้ไปจนครบอายุตราสาร

ก่อนซื้อ หุ้นกู้ เราต้องดูอะไรบ้าง

ผู้ซื้อหุ้นกู้จะต้องศึกษารายละเอียดของหุ้นกู้ ตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลตอบแทนของหุ้นกู้ ดังนี้

1. ความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ เราจะดูจากอันดับความเสี่ยงของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ หรือเครดิตเรทติ้ง ที่บ่งบอกความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะมีอยู่ 2 บริษัทที่จัดอันดับเครดิตเรทติ้ง คือ TRIS Rating และ Fitch Rating เราขอขยายความคำว่า “เรทติ้ง” (Rating) คือ อะไรกันก่อน เรทติ้ง (Rating) คือ เกรดของบริษัทหรือตราสารหนี้ เรทติ้งสะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ สามารถจัดทำได้ทั้งตัวองค์กรและตัวตราสารหนี้ เรทติ้งองค์กรประเมินจากโครงสร้างองค์กร ข้อมูลทางการเงิน แผนธุรกิจของบริษัท และแนวโน้มอุตสาหกรรม ส่วนเรทติ้งตราสารหนี้จะพิจารณาครอบคลุมถึงเงื่อนไขอื่นของตราสารหนี้นั้นๆ เช่น สิทธิแฝง เป็นต้น เรทติ้งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นนักลงทุนควรติดตามอันดับเครดิตอย่างใกล้ชิด อันดับเครดิตความน่าเชื่อถือที่สูงที่สุด คือ AAA และอันดับเครดิตที่ต่ำสุดคือ D ถ้าเราไม่อยากลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป ลดโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ตาม Credit Rating เราควรเลือกหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ คือ อันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA  อันดับเครดิตหุ้นกู้ดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับน่าลงทุน (investment Grade)

2. ดูรายละเอียดของหุ้นกู้ในฉบับที่เราจะซื้อ ว่าหุ้นกู้นี้ เป็นหุ้นกู้อายุกี่ปี เงื่อนไขการจ่ายเป็นแบบไหน จ่ายในรูปดอกเบี้ยหรือส่วนลด ถ้าเป็นดอกเบี้ยจะจ่ายให้เรากี่ % ปีละกี่ครั้ง และดูวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ว่าบริษัทนำเงินกู้ไปทำอะไร

3. ผลตอบแทน พึงพอใจไหม คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ เพราะเงินที่ให้บริษัทยืมนั้น มีค่าเสียโอกาสที่เราไม่ได้ใช้เงินในช่วงเวลานั้นๆ โดยเบื้องต้นเราสามารถอ้างอิงผลตอบแทนเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ เวลาที่เราซื้อหุ้นกู้ได้

4. ปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ เช่น หนี้สินของบริษัท ประวัติการผิดนัดชำระหนี้เคยมีมาก่อนไหม รวมถึงงบการเงินของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ด้วย

ดังนั้นผู้ซื้อหุ้นกู้จะต้องดูปัจจัยต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ ให้คิดเสมือนว่าเราให้ใครสักคนยืมเงิน เราควรตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยืมให้ดี

ซื้อหุ้นกู้ ได้จากไหน
1. ตราสารหนี้ออกใหม่ ศึกษาได้จากเว็บไซต์ thaibma หรือจากหน้าเว็บไซต์/ แอปพลิเคชั่น ของธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ 
2. ตราสารหนี้ที่มีผู้นำมาขายต่อในตลาดรอง การซื้อขายผ่านตลาดตราสารหนี้ TBX (Thai Bond Exchange) หรือธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ 
3. การลงทุนผ่านกองทุนรวม มีข้อดีคือซื้อขายได้ตลอดเวลา สะดวก ใช้เงินทุนไม่สูงมาก

การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาการลงทุนก่อนการตัดสินใจทุกครั้งนะ

ป้ายกำกับ

แสดงเพิ่มเติม

บทความยอดนิยม

Software Development Life Cycle (SDLC) คืออะไร ทำไมจำเป็นต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์

Automation testing หรือ การทดสอบซอฟต์แวร์อัตโนมัติ คืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่อการทดสอบซอฟต์แวร์

ม.ปลายอยากเข้าสายคอม วิทยาการคอม วิศวกรรมคอม เตรียมตัวอย่างไร ต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง

วิธีเก็บ วิเคราะห์ รวบรวม requirement อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

Performance Test คือ อะไร วัดประสิทธิภาพของระบบ ล่มไม่ล่ม จะรู้ได้อย่างไร

8 สิ่งที่ AI จะมาเปลี่ยนโลกในอนาคต

ถอดรหัสความลับเครื่อง Enigma จุดเริ่มต้นและจุดจบของสงครามโลกครั้งที่ 2